การฝึกงานหรือสหกิจศึกษา
จากผลการประเมินความพึงพอใจจากผู้ใช้บัณฑิตที่ทางหลักสูตรเศรษฐศาสตร์บัณฑิตได้ทำการสำรวจวิจัย พบว่าผู้ประกอบการมีความต้องการให้บัณฑิตมีประสบการณ์ในวิชาชีพก่อนเข้าสู่การทำงานจริง ดังนั้นในหลักสูตรจึงมีรายวิชาฝึกประสบการณ์วิชาชีพทางเศรษฐศาสตร์เป็นภาคบังคับ โดยการฝึกประสบการณ์วิชาชีพภาคสนามของนักศึกษากำหนดให้นักศึกษามีทางเลือกฝึกประสบการณ์วิชาชีพ 2 รูปแบบ คือ การฝึกประสบการณ์วิชาชีพแบบสหกิจศึกษาและการฝึกประสบการณ์วิชาชีพแบบการฝึกงานตามหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ทักษะทางด้านเศรษฐศาสตร์ โดยให้พิจารณารูปแบบการฝึกประสบการณ์วิชาชีพภาคสนามของนักศึกษาตามความเหมาะสมและตามศักยภาพของนักศึกษา
มาตรฐานผลการเรียนรู้ของประสบการณ์ภาคสนาม
ความคาดหวังในผลการเรียนรู้ประสบการณ์ภาคสนามของนักศึกษา มีดังนี้ คือ
1. ทักษะในการปฏิบัติงานจากสถานประกอบการ ตลอดจนมีความเข้าใจในหลักการ ความจำเป็นในการเรียนรู้ทฤษฎีมากยิ่งขึ้น
2. บูรณาการความรู้ที่เรียนมาเพื่อนำไปแก้ปัญหาทางธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเป็นเครื่องมือได้อย่างเหมาะสม
3. มีมนุษยสัมพันธ์และสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี
4. มีระเบียบวินัย ตรงเวลา และเข้าใจวัฒนธรรมขององค์กร ตลอดจนสามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานประกอบการได้
5. มีความกล้าในการแสดงออก และนำความคิดสร้างสรรค์ไปใช้ประโยชน์ในงานได้
ช่วงเวลา
ภาคการศึกษาที่ 1 ของชั้นปีที่ 4
การจัดเวลาและตารางสอน
จัดเต็มเวลาใน 1 ภาคการศึกษา
การเตรียมการ
กำหนดให้มีการเตรียมการฝึกประสบการณ์ภาคสนามกับหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัย จำนวน 90 ชั่วโมง สำหรับนักศึกษาที่เลือกการฝึกประสบการณ์วิชาชีพแบบการฝึกงาน และจำนวน 45 ชั่วโมง สำหรับนักศึกษาที่เลือกการฝึกประสบการณ์วิชาชีพแบบสหกิจศึกษา